Dashboard: Top 25 บริษัทไทย ใช้บัณฑิตมหาวิทยาลัยไหนบ้าง?

ที่มา

เพิ่งทราบว่าหน้าบัญชีบริษัทต่างๆ บน LinkedIn นั้นมีข้อมูลน่าสนใจให้ดูเยอะมากครับ คือค่าตั้งต้นของบัญชีประเภทนี้จะมีข้อมูลงานที่กำลังรับสมัคร (Jobs) ชีวิตภายในบริษัท (Life) ที่มีรายละเอียดวัฒนธรรมองค์กร ผลประโยชน์ต่างๆ มีรูปภาพภายในบริษัทให้ดู และข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน (People) ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ละเอียดมาก บอกเลยว่ามีพนักงานอยู่ที่ประเทศอะไร เมืองไหนบ้าง (Where they live) เรียนจบจากมหาวิทยาลัยไหน (Where they studied) จบสาขาอะไร (What they studied) ตำแหน่งที่ทำงาน (What they do) และทักษะที่มี (What they are skilled at) เรียกว่าเป็นขุมทรัพย์ที่สามารถทำให้เราเข้าใจบริษัทนั้นๆ ได้ดีเลย

ลองดูตัวอย่างข้อมูลเหล่านี้จากหน้าบัญชี Google ได้นะครับ จะเห็นได้ว่ามีพนักงาน 2 แสนกว่าคน อยู่ในสหรัฐฯ กว่าครึ่งและไปกระจุกกันอยู่ที่ California และ Bay Area ซึ่งก็เป็น HQ ของเขาละครับ พนักงานกว่า 4 พันคน จบ UC Berkeley และ Stanford ซึ่งก็แถวๆ นั้นเช่นกัน ที่น่าสนใจคือในรายชื่อมหาวิทยาลัย 15 อันดับแรก มีสถาบันจากอินเดียอยู่ 5 แห่งคือมากถึงหนึ่งในสามของรายชื่อเลย ได้แก่อันดับที่ 7 Birla Institute of Technology and Science, Pilani (BITS Pilani) อันดับที่ 9 Delhi University  อันดับที่ 11 Kendriya Vidyalaya อันดับที่ 14 Indian School of Business และ อันดับที่ 15 Netaji Subhas Institute of Technology (NSUT)

ข้อมูลในส่วนตำแหน่งงานและปริญญาที่ได้รับก็น่าสนใจ เพราะมันสะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรได้ จะเห็นว่า Google มีตำแหน่ง Engineer มากถึง 8 หมื่นตำแหน่ง ตามด้วย Media and Communication ที่มี 7 หมื่นกว่าตำแหน่ง สองกลุ่มงานนี้ก็อธิบายได้ว่าทำไม Google ถึงเป็น Tech company ที่เน้นการสื่อสารและโฆษณาในรูปแบบต่างๆ แบบครบวงจร ปริญญาที่จบมา 5 อันดับแรกก็เป็นสาขาเทคโนโลยีส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Computer Science, Computational Science และ Computer Engineering โดยมีสายธุรกิจและการตลาดสอดแทรกอยู่

ส่วนสุดท้ายซึ่งก็สอดคล้องไปกับตำแหน่งงานก็คือทักษะที่พนักงานมีความสามารถ ซึ่งพนักงาน Google มีทักษะในกลุ่มเทคโนโลยีใน 4 อันดับแรก คือ Python, Java, MS Office, C++ มีทักษะการบริหารด้านความเป็นผู้นำ (Leadership) มาเป็นอันดับที่ 5

ข้อมูลทั้งสถาบันการศึกษา และทักษะที่ใช้ในงาน เป็นสองประเด็นที่ผมอยากจะลองหาความสัมพันธ์กับสถานที่ทำงาน เหมือนอย่างที่เราพบว่า Google มีวิศวกรเยอะ ใช้ทักษะด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์เป็นหลัก แล้วบริษัทชั้นนำในประเทศไทยมีลักษณะพนักงานหรือทักษะที่ต้องการเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยไหนสามารถผลิตบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการของหน่วยงานที่สุด

สำรวจรายชื่อบริษัทชั้นนำในใจคนทำงานรุ่นใหม่

ประเด็นถัดมาคือเราจะเอาบริษัทอะไรบ้าง แน่นอนว่าเราต้องการบริษัทชั้นนำ แต่คำว่า “ชั้นนำ” เองก็ไม่ได้ชัดเจนว่าควรวัดจากอะไร ผลประกอบการ มูลค่าทรัพย์สิน หรือความนิยม? เท่าที่พูดคุยกับเพื่อนๆ และลองค้นหาข้อมูลเบื้องต้น การเลือกผลประกอบการ และมูลค่าทรัพย์สินไม่น่าจะเหมาะ เพราะมันไม่ได้แปลว่าบริษัทนั้นเป็นที่รู้จักหรือเป็นที่สนใจในกลุ่มคนทำงาน ดังนั้นการหารายชื่อหรืออันดับบริษัทที่จะเอามาสร้างข้อมูลเลยเน้นที่ชื่อเสียงและความนิยมเป็นหลัก และหลังจากค้นหาดูก็พบรายชื่อบริษัทชั้นนำที่ทาง WorkVenture ได้สำรวจคนเริ่มทำงานและกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ในช่วงอายุระหว่าง 21-35 ปี มากกว่า 12,372 คน โดยใช้คำถามปลายเปิดที่ว่า “บริษัทที่คุณอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดคือ?” แน่นอนว่ายุคหลังโควิด ความมั่นคงของบริษัทและรูปแบบการทำงานที่ยืดหนุ่นแบบไฮบริดเป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ

จากรายชื่อ 50 บริษัทชั้นนำ ผมเลือกรายชื่อครึ่งบนมา เพราะต้องการให้มีความกระชับขึ้น จากนั้นแบ่งบริษัทเป็น 3 กลุ่มคือ

  1. บริษัทสัญชาติไทยหรือบริษัทข้ามชาติ (multinational corporation หรือ MNC) ที่มีสัญชาติไทย เช่นธนาคารกสิกร ถึงแม้จะเป็น MNC ที่ขยายสาขาไปลาว เวียดนาม กัมพูชา จีน ฮ่องกง อังกฤษและอเมริกา แต่ก็ถือกำเนิดที่ไทย และบริษัทที่มีสาขาอย่างเป็นทางการ เช่น Toyota และ Honda กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย AIS, Bangchak, BJC+BIG C, Bitkub, Boonrawd Brewery, Central Group, CP Group, Honda (Thailand), KASIKORN, LINE MAN Wongnai, Mitr Phol Group, PTT Group, SC Asset, SCB, SCG, ThaiBev และ Toyota Motor Thailand ที่จับไว้ในกลุ่มเดียวกันก็เพราะว่าบัญชีบริษัทบน LinkedIn เมื่อดูสถาบันที่พนักงานจบมาจะเป็นสถาบันในไทยทั้งหมดนะครับ
  2. กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในภูมิภาคเราเช่น Lazada ที่มี HQ อยู่สิงคโปร์ โดยกลุ่มนี้มี 3 บริษัทคือ Agoda Lazada และ Shopee ที่จัดเป็นกลุ่มเดียวกันเพราะเมื่อดูบัญชีบริษัทบน LinkedIn จะมีสถาบันไทยปะปนกับสถาบันในประเทศที่เป็น HQ ของบริษัท สะท้อนว่าบริษัทเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับบ้านเราพอสมควร
  3. กลุ่มสุดท้ายคือบริษัทข้ามชาติจากฝั่งตะวันตก มีอยู่ 4 บริษัทคือ Apple, Google, LINE, Tesla และ Unilever ซึ่งถ้าดูหน้าบัญชีบน LinkedIn แล้วไม่มีพนักงานที่จบการศึกษาจากสถาบันในไทยเลย ต้องค้าหาเอาเองทีละรายการ ส่วนนี้คือขุดข้อมูลกันพอสมควร

กวาดจำนวนบัณฑิตที่ทำงานใน Top 25

เมื่อได้รายชื่อแล้วก็ทำการค้นหาจำนวนบัณฑิตแยกตามสถาบันการศึกษาจากหน้าบัญชีบริษัทต่างๆ บน LinkedIn ซึ่งระบบจะแสดงผลสถาบันเพียง 15 ชื่อแรกตามจำนวนบัณฑิต เมื่อได้ชื่อสถาบันและจำนวนบัณฑิตมาครบแล้วก็พบว่ามีสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งสิ้น 19 แห่ง จากรายการสถาบันเหล่านี้ก็ไม่ได้แสดงอยู่ในหน้าบัญชีบริษัทบน LinkedIn ทุกแห่ง เช่น ถ้าเข้าไปดู Toyota Motor Thailand จะไม่พบมหาวิทยาลัยบูรพาในรายการ แบบนี้ผมจะย้อนกลับไปดูและค้นหาทีละสถาบันอีกรอบ และสำหรับกลุ่มบริษัทข้ามชาติทั้ง Apple, Google, LINE, Tesla และ Unilever ก็ต้องไปค้นหาชื่อสถาบันทั้ง 19 แห่งด้วยตัวเอง เพราะไม่มีสถาบันการศึกษาไทยติด TOP 15 ของเขา เพื่อให้ได้จำนวนบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาทั้ง 19 แห่ง

ขั้นตอนนี้ทำให้เราได้จำนวนบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาทั้งหมดที่ทำงานในบริษัทชั้นนำ 25 แห่ง ซึ่งจริงๆ มันคือ 26 บริษัท เพราะ BJC และ BIG C ซึ่งควบกันไปแล้ว แต่บัญชี LinkedIn ยังแยกกัน ผมก็แยกเป็น

ขึ้นรูป Dashboard บน Tableau

ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล ทำความสะอาด และจัดโครงสร้างที่โหดร้ายก็จบลงแล้วครับ ความสนุกกำลังจะเริ่มขึ้น สำหรับโปรเจคนี้ ผมเลือกใช้ Tableau Public เพราะคิดว่าล่วงเลยเวลาศึกษาเครื่องมือชื่อดังตัวนี้มานานแล้ว (ฮา!)

ความตั้งใจที่จะสร้าง Exploratory Dashboard คือออกแบบเพื่อเชื้อเชิญคนมาค้นหาข้อมูล ลองเลือกหยิบบริษัทหรือมหาวิทยาลัยแล้วดูความเคลื่อนไหวของข้อมูลแบบเข้าใจง่ายก็เลยมาจบที่กราฟแท่งสามกราฟ กราฟแรกแสดงสถาบันการศึกษาเรียงตามจำนวนบัณฑิต กราฟที่สองแสดงรายชื่อบริษัทเรียงตามจำนวนบัณฑิตเช่นกัน และสุดท้ายคือกราฟแสดงรายการทักษะ เรียงตามจำนวนพนักงานที่มีทักษะนั้น

เชิญให้ค้นหาความหมายข้อมูลด้วยการใส่ตัวกรอง

ด้านบนของ Dashboard จะมีตัวกรองให้ 3 ชุด ชุดแรกกรองสถาบันการศึกษาตามระบบ คือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐรวมกับสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ และกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ชุดที่สองคือประเภทของบริษัท ได้แก่บริษัทสัญชาติไทย (Thai) กลุ่มบริษัทข้ามชาติในภูมิภาค (Regional) และบริษัทข้ามชาติจากฝั่งตะวันตก (MNCs)

สำหรับตัวกรองชุดสุดท้าย คือกลุ่มทักษะที่พนักงานมี อันนี้ผมลองให้ ChatGPT แบ่งให้ก่อนจากรายการทักษะทั้งหมดแล้วมาจัดเรียงตามความเหมาะสมอีกที เช่นทักษะกลุ่ม Technical นี่คือเน้นเทคนิคเฉพาะทางในงาน ทักษะทางวิศวกรรม ปิโตรเลียม น้ำมันและแก๊ส เป็นต้น ส่วนทักษะเทคนิคที่ค่อนไปทางฝั่งเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างการเขียนโปรแกรมก็กองรวมไว้กับกลุ่มทักษะ IT

ตกแต่งด้วยคำพูดและใส่สี

ขั้นสุดท้ายคือการใส่เนื้อหาเพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้งานเข้าใจวิธีการรวบรวมข้อมูล มีข้อความแนะนำการใช้งานและข้อสังเกตนิดหน่อย คือในส่วนของแท่งกราฟรายการทักษะที่มันจะไม่ interact กับแท่งกราฟรายการชื่อมหาวิทยาลัย เพราะมันผูกกับข้อมูลชื่อบริษัทเท่านั้น จากนั้นก็ลงสีกราฟ สีข้อความเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลกับตัวหนังสือ ใส่โลโก้แบรนด์ จบขั้นตอนเหล่านี้ก็ทิ้งไว้และกลับมาดูเพื่อพิจารณาว่ายังมีจุดให้แก้ไข ปรับปรุงได้อีกไหม

เรื่องหนึ่งที่ผมมาตัดสินใจใหม่คือป้ายชื่อกราฟแท่งทั้งสาม จากเดิมที่ชื่อว่า University, Company และ Skills ซึ่งพอดูแล้วมันรู้สึกไม่มีชีวิตชีวาเท่าไร เปลี่ยนเป็นวลีที่ล้อไปกับป้ายคำจากหน้า LinkedIn จะดูน่าสนใจกว่าก็เลยกลายเป็น Where they studied, Where they work และ What skills they possess นั่นเอง

เราพบ Insights อะไรบ้าง

อย่างที่บอกว่าเป้าหมายหลักคือการสร้าง Exploratory Dashboard เพื่อการค้นหาข้อมูลบางอย่างที่เรามองไม่เห็นบนตาราง ใส่ตัวกรองหลายแบบเข้าไป รวมถึงกรองได้จากกราฟแท่งทุกกราฟด้วย ลองกดไปกดมาก็พบ Insights ในส่วนของจำนวนบัณฑิตรายสถาบันอยู่บ้างดังนี้

  1. จำนวนบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และ เกษตรศาสตร์ ที่รั้ง 3 อันดับหัวตารางการผลิตบัณฑิตให้บริษัทชั้นนำทั้ง 25 แห่งนี้ รวมกันแล้วได้หมื่นกว่าคน ซึ่งมากกว่าบัณฑิตจากสถาบันที่เหลือทั้งหมดซึ่งมี 9 พันกว่าคน
  2. บัณฑิตจุฬาฯ ครองอันดับหนึ่งแทบจะทุกบริษัท ยกเว้น AIS, SCB, และ Boon Rawd Brewery ที่เกษตรศาสตร์แซง และ Tesla ที่ธรรมศาสตร์ได้อันดับ 1
  3. บัณฑิตจุฬาฯ มีจำนวนเกินสองเท่าของอันดับสองอยู่หลายบริษัท เช่น
    Google มี 146 คน อันดับสองบัณฑิตธรรมศาสตร์ มี 59 คน
    Apple มี 75 คน อันดับสองบัณฑิตเกษตรศาสตร์มี 27 คน
    Agoda มี 403 คน อันดับสองบัณฑิตมหิดลมี 158 คน
    และที่ขาดไม่ได้คือ SCG ที่มีบัณฑิตจุฬาฯ 568 คน อันดับสองและสามรวมกันคือธรรมศาสตร์ 227 คนและเกษตรศาสตร์ 207 คน รวมได้แค่ 434 คนยังไม่เท่าเลย
  4. ถ้าเลือกแค่กลุ่มบริษัทสัญชาติไทย สามอันดับแรกก็เหมือนเดิม แต่อันดับ 4 – 5 จะเป็นมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังตามลำดับ แต่ถ้าเลือกกลุ่ม MNCs และ Regional คือกลุ่มบริษัทข้ามชาติทั้งหมด อันดับ 5 จะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และถ้าไล่ดูกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนทั้ง 4 สถาบัน จะมีลำดับที่ดีกว่าในการกลุ่มบริษัทข้ามชาติเช่นกัน

ในส่วนของทักษะที่พนักงานก็พบ Insights เช่นกันดังนี้ครับ

  1. ทักษะด้านธุรกิจ เรื่องความเป็นผู้นำ (leadership) และการจัดการ (management) นำโด่ง
  2. ทักษะด้าน Soft Skills เรื่องการทำงานเป็นทีม การพูดในที่สาธารณะ และการสื่อสาร คือ Top 3
  3. ทักษะด้าน IT ในภาพรวม Microsoft Office และ Excel คือสองอันดับต้น ตามมาด้วย Python, Java และ C++ ซึ่งเป็นทักษะด้านการเขียนโปรแกรมทั้งหมด ที่น่าสนใจคือ ถ้ากรองเอาแค่บริษัทในไทย ทักษะด้านการเขียนโปรแกรมหายหมดเลย กลายเป็น PowerPoint และ Word เข้ามาแทนในอันดับ 3 และ 5 ส่วนอันดับ 4 คือ SQL ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้คุยกับฐานข้อมูล

ข้อจำกัด

แน่นอนว่าข้อมูลจาก LinkedIn ย่อมไม่ครบและไม่ถูกต้องเท่าข้อมูลของฝ่ายบุคคลจากทุกบริษัทที่อยู่ในรายการ TOP 25 แต่ก็คงไม่มีใครให้เราแน่ สองประเด็นที่อยากจะพูดถึงในเรื่องของข้อจำกัดก็คือ

  1. ข้อมูลบน LinkedIn ไม่ใช่พนักงานทั้งหมดของบริษัท แต่เป็นแค่กลุ่มที่สมัครใช้งานและกรอกข้อมูลด้วยความสมัครใจ ส่วนตัวรู้สึกว่าจำนวนพนักงานบนแพลตฟอร์มนี้ อย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนว่าพนักงานในหน่วยงานนั้นมีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ในระดับหนึ่ง
  2. เราไม่รู้ว่ากลุ่มพนักงานที่บอกว่าตัวเองทำงานในบริษัทต่างๆ ยังทำอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ อาจะเป็นแค่บริษัทที่เขาเคยอยู่ แต่ตอนนี้ย้ายไปหน่วยงานอื่นแล้วก็ได้ คือเราไม่สามารถไปดูได้โปรไฟล์รายคนได้ครับ LinkedIn เขาให้ดูแค่จำนวนพนักงานแค่นั้น

อ้างอิง

เปิดโพลสุดยอด 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด 2023 https://www.workventure.com/top50-companies-2023

ขอขอบคุณทีม AI – งานนี้ใช้ ChatGPT ช่วยแต่งข้อความใน Dashboard และใช้ Bing กับ YouTube ช่วยหาข้อมูลการใช้งาน Tableau ครับ